วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2558

วัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่)

วัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่)



ที่ตั้ง 
          .ศุภกิจ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 

รายละเอียดเบื้องต้น
          วัดจีนประชาสโมสร หรือที่รู้จักกันในนาม วัดเล่งฮกยี่ (龍福寺) เป็นวัดแบบจีนศาสนาพุทธนิกายมหายาน มีความเก่าแก่โดยเริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยขยายมาจากวัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ (龍蓮寺) ในกรุงเทพฯ ชื่อภาษาจีนของวัด คำว่า ฮกแปลว่า วาสนา โชคลาภ ความมั่งมีศรีสุข เล่งหมายถึง มังกร จึงมีผู้เรียกวัดนี้ ว่า มังกรวาสนา หรือ มังกรแห่งโชคตามหลักฮวงจุ้ยจีนกล่าวว่า วัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่)ถือเป็นตำแหน่งท้องมังกร ส่วนตำแหน่งหัวมังกรอยู่ที่วัดเล่งเน่ยยี่ จังหวัดกรุงเทพฯ และหางมังกรนั้นอยู่ที่วัดเล่งฮัวยี่ จังหวัดจันทบุรี ทั้งสามตำแหน่งของมังกรพาดผ่านดินแดนของความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ เยาวราชดินแดนแห่งการค้าขาย เมืองแปดริ้วดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและจังหวัดจันทบุรี เมืองแห่งอัญมณีพลอย

กิจกรรม 
          เดินไหว้สิ่งศักดิ์ตามจุดต่างๆ อันได้แก่ ท้าวจัตุโลกบาลขนาดใหญ่ 4 องค์ทำจากกระดาษที่ประตูทางเข้า เทพเจ้าแห่งโชคลาภไฉ่ซิ้งเอี๊ย พระประธาน 3 องค์และองค์ 18 อรหันต์ ทำด้วยกระดาษนำมาจากเมืองจีน เจ้าแม่กวนอิม และเทพเจ้าอีกหลายองค์ตามคติจีน วิหารหลวงพ่อหินศักดิ์สิทธิ์ วิหารบูรพาจารย์ วิหารตี่จั๊งอ๊วง สระนทีสวรรค์ นอกจากนั้นภายในวัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่) ยังมีระฆังใบใหญ่ของชาวจีนแต้จิ๋วที่ได้สร้างขึ้น 1 ตัน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ใบในโลกที่รอบระฆังมีอักษรมหาปรัชญาปารมิตราสูตรถือกันว่า ว่ากันว่าผู้ได้ใดตีระฆังก็เหมือนกับการสวดมนต์ซึ่งได้บุญกุศล


อื่นๆ 
          038511069

วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (วัดเมือง)

วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (วัดเมือง)




ที่ตั้ง
          เลขที่ 156 .มรุพงษ์ ต.หน้าเมือง อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา

รายละเอียดเบื้องต้น
          วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (วัดเมือง) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2377 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงรักษ์รณเรศ พระราชโอรสองค์ที่ 33 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) และเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2385 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2395
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดตามฐานันดรศักดิ์ของเสด็จนายกรมฯ ซึ่งเป็นอาของพระเจ้าแผ่นดินว่า "วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์" แปลว่า "วัดที่อาของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง" แต่เดิมเรียกกันว่า "วัดเมือง" หรือ "วัดหน้าเมือง" เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยกวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 25 ตอนพิเศษ 140 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2551

กิจกรรม 
        มีโบราณสถานและโบราณวัตถุให้ชมมากมาย เช่น รอยพระพุทธบาทจำลองหล่อด้วยสำริด มีภาพมงคล 108 หล่อในสมัยรัชกาลที่ 3 ระหว่างอุโบสถกับพระวิหาร มีต้นจันอายุมากกว่า174 ปี (นับถึงปี 2556) พระปรางค์ มุมกำแพงรอบพระวิหาร มี 4 องค์ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ศาลากรมหลวงรักษ์รณเรศ ฯลฯ


อื่นๆ 
           -

วัดชมโพธยาราม

วัดชมโพธยาราม




ที่ตั้ง 
          ต.โสธร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

รายละเอียดเบื้องต้น
          วัดแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2523 โดย พระครูปลัดสุโพธิ์ จันทาโภ เป็นผู้ก่อตั้งบนพื้นที่ดินที่ได้รับการถวายจาก 2 สามีภรรยา คือ นายชม และนางเยี่ยม ทองคำเปลว จำนวน 12 ไร่เศษ เริ่มแรกเดิมทีเป็นแค่สำนักสงฆ์ในชื่อของ"สำนักสงฆ์ชมพุทธคยานุสรณ์" หลังจากนั้นก็ได้มีการก่อสร้างกุฏิ, ศาลาการเปรียญ, พระอุโบสถ พร้อมสังเวชนียสถานที่จำลองแบบมาจากของจริงทั้งหมด โดยก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2544 ซึ่งต่อมาก็ได้ยกลำดับเป็นวัด ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อของ "วัดชมโพธยาราม"

กิจกรรม 
          นมัสการสังเวชนียสถาน สังเวชนียสถาน คือ สถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช โดยเมื่อดูแล้วทำให้จิตหันมาคิดถึงสิ่งที่ดีงาม เกิดความไม่ประมาท และเพียรพยายามทำสิ่งที่ดีงาม โดยมี 4 แห่งคือ สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ พุทธคยาเจดีย์ตรัสรู้ เจดีย์ปฐมเทศนา สถานที่ปรินิพพาน


อื่นๆ 
          -

วัดนครเนื่องเขต

วัดนครเนื่องเขต



ที่ตั้ง 
          46 หมู่ 8 ต.วังตะเคียน อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

รายละเอียดเบื้องต้น
          สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2430 มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า วัดต้นตาล เนื่องจากพื้นที่เดิมบริเวณนี้มีต้นตาลอยู่จำนวนมาก ต่อมาเมื่อมีคลองขุดใหม่คือ คลองนครเนื่องเขต แยกจากคลองแสนแสบจึงเปลี่ยนได้ชื่อวัดใหม่ว่า วัดนครเนื่องเขต ตามชื่อคลอง ภายในวัดนครเนื่องเขตมีศาสนสถานที่น่าสนใจ ได้แก่ พระอุโบสถหลังแรก เจดีย์ราย ศาลาท่าน้ำ ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ทางวัดนครเนื่องเขตได้สร้างอุโบสถหลังใหม่โดยที่มีความโดดเด่นคือ เป็นอุโบสถที่ทำด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผาทั้งหลัง มีสีน้ำตาลเข้มทั้งหลัง นับได้ว่าเป็นอุโบสถที่แปลกตาและหาชมอุโบสถประเภทนี้ได้ยากในประเทศไทย อุโบสถดินเผาของวัดนครเนื่องเขต 

กิจกรรม 
         สามารถเดินชมโดยรอบจากภายนอกได้ และยังสามารถเดินลอดด้านใต้อุโบสถเพื่อไปไหว้พระ ส่วนภายในเปิดให้ชมในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ก็ไม่แน่นอนทุกอาทิตย์


อื่นๆ 
         -

วัดอุภัยภาติการาม (ซำปอกง)

วัดอุภัยภาติการาม (ซำปอกง)




ที่ตั้ง 
        ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านใหม่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา

รายละเอียดเบื้องต้น
          ใกล้กับบริเวณตลาดบ้านใหม่ เดิมเป็นวัดจีนแต่ปัจจุบันแปรสภาพเป็นวัดญวนในลัทธิมหายาน ภายในวัดมีวิหารลักษณะเหมือนศาลเจ้า เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต (พระไตรรัตนนายก) หรือที่ชาวจีนเรียกว่า เจ้าพ่อซำปอกงในประเทศไทยมีเพียง 3 องค์เท่านั้น ประดิษฐานอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร (ฝั่งธนบุรี) จังหวัดกรุงเทพฯ วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดอุภัยภาติการาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

กิจกรรม 
          นมัสการได้ทุกวัน


อื่นๆ
          038816904, 038511198 

วัดหัวสวน (โบสถ์สแตนเลส)


วัดหัวสวน (โบสถ์สแตนเลส)




ที่ตั้ง  
          หมู่ 4 ต.เสม็ดเหนือ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

รายละเอียดเบื้องต้น
          สร้างด้วยสแตนเลสทั้งหลัง เพื่อหวังให้โบสถ์มีอายุยาวเป็นพันปี การสร้างอุโบสถสแตนเลสมาจากความคิดของพระครูภาวนา จริยกุลท่านเจ้าอาวาสวัด ที่เห็นว่า โบสถ์ หลังเก่ามีความชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว อยากจะสร้างขึ้น มาใหม่ให้คงอยู่ยาวนาน จากการศึกษาพบว่าสแตนเลส เป็นวัสดุที่สามารถอยู่ได้เป็นพันปี ในขณะที่ปูนจะมีอายุอยู่เป็นร้อยปี ท่านจึงตัดสินใจออกแบบโบสถ์สแตนเลส ขึ้นมาฃ

กิจกรรม 
           กราบสักการะพระพุทธมหาลาภ ชมภาพกิจกรรมฝาผนังใช้วิธีการ air brush เป็นภาพพุทธชาติ 10 ชาติ ประตูหน้าต่างสแตนเลส ลงลายสีทอง รูปเทวดาและรูปพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีการกัดกรงลงสีทอง ภาพลายฉลุสแตนเลส รูปพระอรหัตถ์ 90 องค์

อื่นๆ 
           -

เจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ

เจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ




ที่ตั้ง 
           สมาคมสงเคราะห์การกุศลฉะเชิงเทรา ถ.ศุภกิจ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา

รายละเอียดเบื้องต้น
           เจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ ประดิษฐานอยู่ที่สมาคมสงเคราะห์การกุศลฉะเชิงเทรา ถนนศุภกิจ เป็นรูปยืนองค์ลอย สูงประมาณ 1 เมตรเศษ หนัก 40 กิโลกรัม ทำจากเซรามิก เมื่อปี พ.ศ. 2540 มีคนพบลอยน้ำมาติดฝั่งบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ชาวแปดริ้วจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้ 

กิจกรรม 
           กราบนมัสการเจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ และรอบๆเจ้าแม่กวนอิมองค์เล็กๆ หลายปางเรียงรายกันอยู่ ถัดไปด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าอีกหลายองค์


อื่นๆ 
           0850130946